วันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาวิชาชีพครูด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21

ทิพรัตน์ สิทธิวงศ์*  ยุทธนา พันธ์มี**
บทนำ
          การพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาวิชาชีพครูให้มีความพร้อมต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยสื่อและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา  โดยระบุไว้ใน หมวด 1 บททั่วไป ความมุ่งหมายของหลักการมาตร 9(4) ว่า “มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา และการพัฒนาครูคณาจารย์ และบุคคลทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”  และได้กำหนดหลักการดำเนินการไว้ในหมวด 7 ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา มาตร 52 ว่า “ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ และกระบวนการผลิตพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับและประสานให้สถาบันที่มีหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่องรัฐพึงจัดสรรงบประมาณและจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างพอเพียง" 1

ภาพที่
1
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  2542 หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

            ด้วยกระแสเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้วิถีการดำรงชีวิตเปลี่ยนแปลงไป  เกิดการแข่งขันทางปัญญา โดยการใช้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ใหม่ ๆ ที่ทันสมัยมากขึ้นบุคคลที่มีเชี่ยวชาญในการแสวงหาความรู้ การปรับประยุกต์ใช้เครื่องมือในการแสวงหาความรู้ในรูปแบบต่าง ๆ หากเราทุกคนสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำรงชีวิต ก็จะทำให้อยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างไม่อยากนัก  การรู้ไอซีทีจะทำให้บุคคลสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ในการค้นหาความรู้เพื่อสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่ต้องให้มีการพัฒนาความรู้ และทักษะความสามารถในด้านนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้นักศึกษาวิชาชีพครูก้าวไปเป็นครูในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์ โดยเป้าประสงค์ของการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ประกอบไปด้วย ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และทักษะชีวิตและอาชีพ ทั้งสามด้านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง และครูผู้สอนจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะปฏิบัติ และเจตคติที่ดี รวมถึงสมรรถนะและความสามารถพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับการศึกษา การเลือกรับ เลือกปฏิเสธ  การเข้าถึงความรู้ จนกระทั่งการประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสร้างสรรค์  โดยไม่หลงลืมคุณธรรมจริยธรรม

         ดังนั้นนักศึกษาวิชาชีพครูจึงถือได้ว่าเป็นกำลังสำคัญต้องมีความพร้อมที่จะไปเป็นครูในอนาคต ควรได้รับการพัฒนาสมรรถนะของนักศึกษาวิชาชีพครูในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมผสมผสานกับเทคนิควิธีการสอนอันจะสามารถถ่ายทอดเนื้อหาความรู้แก่ผู้เรียนที่จะพัฒนาไปเป็นบุคคลในศตวรรษหน้า ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเองและมีทักษะการรู้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT Literacy) ให้รู้จักเลือกรับ เลือกปฏิเสธ และรู้เท่าทันเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้เนื้อหาวิชาการเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  


สมรรถนะวิชาชีพครู : ความหมายและความสำคัญ
          ในกระแสของการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสารที่ไหล่บ่าข้ามพรมแดนมาถึงกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทำให้รูปแบบการเรียนรู้และวิธีการแสดงหาความรู้มีการปรับเปลี่ยนไปจากระบบการศึกษาในรูปแบบดั่งเดิมที่มีครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้สู่นักเรียนฝ่ายเดียว ไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ด้วยตนเองที่นักเรียนสามารถแสวงหาและสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตนเองเพิ่มมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายครูยุคใหม่ในการจัดองค์ความรู้ให้บังเกิดต่อการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้นครูจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาสมรรถนะให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานหรือกิจกรรมวิชาชีพครูได้อย่างมีประสิทธิภาพตามความคาดหวังขององค์การทั้งระดับโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการ
          มีการให้นิยามความหมายของคำว่า สมรรถนะ (Competency) หมายถึง พฤติกรรมที่เกิดจากความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) ความสามารถ (Ability) และคุณลักษณะส่วนบุคคล (Other Characteristics) ที่ทำให้บุคคลปฏิบัติงานได้สำเร็จและบรรลุผลสัมฤทธิ์ขององค์การ หรืออาจกล่าวสรุปได้ว่า สมรรถนะ หมายถึง บุคลิกลักษณะที่ทำให้ปัจเจกบุคคลสามารถสร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีตามเกณฑ์ที่กำหนดและสามารถปฏิบัติงานในความรับผิดชอบได้ดีกว่าผู้อื่น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สมรรถนะ หมายถึง พฤติกรรมการปฏิบัติงานซึ่งเป็นผลมาจากความรู้ ทักษะ ความสามารถและพฤติกรรมอื่นๆ ที่ทำให้สามารถสร้างผลงานได้โดดเด่นกว่าเพื่อนร่วมงานในองค์กร ดังนั้น สมรรถนะ จึงหมายถึง ความรู้ ทักษะ ความสามารถและคุณลักษณะของครูที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานในวิชาชีพครูให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพ สมรรถนะครูจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติวิชาชีพครูให้บรรลุผลอย่างมีประสิทธิภาพตามความต้องการขององค์การทางการศึกษายุคปฏิรูปการศึกษา
          ทั้งนี้การพัฒนาสมรรถนะนักศึกษาวิชาชีพครูภายใต้สังคมแห่งยุคโลกาภิวัตน์หรือ The Globalization นั้นได้มีการศึกษาวิจัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครูในหลายหน่วยงาน ซึ่งมีบทสรุปการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ได้พัฒนาสมรรถนะและตัวบ่งชี้ของครูไทย โดยแบ่งออกเป็นสมรรถนะหลัก (Core Competency) ประกอบไปด้วย 5 สมรรถนะ และสมรรถนะประจำสายงาน (Functional Competency) ประกอบไปด้วย 6 สมรรถนะ โดยหนึ่งใน 6 สมรรถนะ คือ สมรรถนะที่ 1 การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ มีความหมายว่า ความสามารถในการสร้างพัฒนาหลักสูตร การออกแบบการเรียนรู้อย่างสอดคล้องและเป็นระบบ จัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยี และการวัดประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด และตัวบ่งชี้ที่สำคัญอีกตัวก็คือ ตัวบ่งชี้ที่ 4 การใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ 2



  ภาพที่ 2 ครูไทยยุคใหม่บูรณาการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยีทางการศึกษา

            ดังนั้นเพื่อเป็นการแสวงหามาตรการและแนวทางใหม่ในการพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับยุคสมัยของทักษะแห่งอนาคตใหม่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะทำให้ครูสามารถนำผู้เรียนไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ นำโรงเรียนไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในทามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคม เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาให้เป็นไปตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษาโดยต้องเริ่มพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูด้านสมรรถนะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs ที่จะนำไปสู่ทักษะแห่งอนาคตใหม่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ของทรัพยากรบุคคลเป็นผู้มีความพร้อมที่จะพัฒนาประเทศไทยต่อไป

ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs
        การเรียนรู้ทักษะในศตวรรษที่ 21 นั้นการจัดการเรียนรู้ควรคำนึงถึง มาตรฐานการเรียนการสอนศตวรรษที่ 21 การประเมินผลหลักสูตรการเรียนการสอน การพัฒนาอาชีพและสภาพแวดล้อม การเรียนรู้จะต้องสอดคล้องกับระบบการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอน หรือการศึกษาในศตวรรษที่ 21
        ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมในศตวรรษที่ เป็นทักษะที่มีความพร้อมสำหรับการดำรงชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยมุ่งเน้นด้านความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การคิดเชิงวิเคราะห์และการทำงานร่วมกัน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับครูในอนาคต
        ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม คือ การใช้ความหลากหลายของเทคนิคการใช้ความคิด (การระดมความคิด ) การสร้างสรรค์ความคิดใหม่ๆ ที่คุ้มค่า วิเคราะห์และประเมินผลความคิดของตนเอง เพื่อปรับปรุงและเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ของตนอยู่ตลอดเวลา การทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ การสื่อสารความคิดใหม่ๆ ร่วมกัน เปิดกว้างและตอบสนองมุมมองใหม่ๆ มีการเสนอแนะในการทำงานร่วมกัน  แสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ในการทำงานและเข้าใจข้อจำกัด ในโลกปัจจุบันจริงที่จะใช้ความคิดใหม่ดูความล้มเหลวเป็นโอกาสที่จะเรียนรู้ เข้าใจว่าความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเป็นกระบวนการวัฏจักรของความสำเร็จและมีความผิดพลาดเล็ก ๆ บ่อยอยู่บ้าง การใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม  การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา     การใช้เหตุผลอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้เหตุผลในการทำงานตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
          การใช้การคิดเชิงระบบ  วิเคราะห์ แยกแยะ  เพื่อสร้างผลลัพธ์โดยรวมในระบบที่ซับซ้อน ให้คำตัดสินและการตัดสินใจ  ได้อย่างมีประสิทธิภาพในการวิเคราะห์และประเมินค่าวิเคราะห์และประเมินทางเลือกที่สำคัญมุมมองต่างๆ ,สังเคราะห์และทำให้การเชื่อมต่อระหว่างข้อมูลและข้อโต้แย้ง , ตีความข้อมูลและสรุปผลจากการวิเคราะห์ที่ดีที่สุด , สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตเมื่อประสบการณ์การเรียนรู้และกระบวนการแก้ปัญหาแก้ปัญหาที่แตกต่างกันของปัญหาในรูปแบบทั้งแบบธรรมดาและนวัตกรรม ,ระบุและถามคำถามสำคัญที่ชี้แจงจุดต่างๆ ของมุมมองและนำไปสู่​​การแก้ปัญหาที่ดีกว่า
          การสื่อสารและการทำงานร่วมกัน การสื่อสารอย่างชัดเจน ความชัดเจนในด้านความคิด คิดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ทักษะการสื่อสาร การเขียน ความหลายหลากในรูปแบบและบริบทในการสื่อสาร  การสื่อสารโดยการฟังอย่างมีประสิทธิภาพ มีความรู้ ค่านิยม ทัศนคติและความตั้งใจ ตอบสนองการฟัง ฟังแล้วสามารถเข้าใจ สื่อสารได้ และการใช้สื่อและเทคโนโลยีที่หลากหลายและมีประสิทธิภาพ ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและการทำงานเป็นทีมที่มีความหลากหลายได้  มีความสามารถฝึกฝนได้อย่างคล่องแคล่ว และความตั้งใจในการทำให้เกิดความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย มีความรับผิดชอบร่วมกันสำหรับการทำงานร่วมกันและการมีส่วนร่วมของแต่ละบุคคล 3


  

  ภาพที่ 3 ทักษะในศตวรรษที่ 21 และกระบวนการขับเคลื่อน

          ดังนั้นทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs คือ การจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงมาตรฐานการเรียนการสอนศตวรรษที่ 21 อันจะเป็นการกำหนดความพร้อมให้นักศึกษาวิชาชีพครูได้มีความพร้อมทำหน้าที่ของครูผู้สอนตามระบบการศึกษาไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคม ที่มีความรู้ความสามารถและทักษะในการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การสื่อสาร (Communication) การร่วมมือ (Collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ที่สามารถจัดการเรียนรู้ภายใต้การบริหารจัดการด้านการศึกษาแบบใหม่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนหรือการศึกษาในศตวรรษที่ 21  

          กระบวนการที่จะพัฒนานักศึกษาวิชีพครูให้มีสมรรถนะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs นอกจากการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตในเวลาปกติแล้ว การส่งเสริมด้วยวิธีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูนั้น ก็เป็นวิธีหนึ่งที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงเน้นถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลที่ต้องการให้เกิดกับบุคคลนั้นปฏิบัติอยู่หรือจะปฏิบัติต่อไปในระยะยาว โดยมีเนื้อหาของการฝึกอบรมตรงกับความต้องการ      โดยเลือกรูปแบบวิธีการ และกระบวนการที่เหมาะสมกับเนื้อหาและเวลา อันที่ส่งผลให้นักศึกษาวิชาชีพครูเกิดความรู้ความสามารถหรือสมรรถนะทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรมตามที่ต้องการ

รูปแบบ TPACK (The TPACK Model)
          รูปแบบ TPACK หรือ TPCK คือกระบวนการให้ความรู้แก่ครูหรือบูรณาการไอซีที ที่มีประสิทธิผล โดยที่ครูจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี การเรียนการสอน ความรู้ด้านเนื้อหาที่ปฏิสัมพันธ์กันเพื่อประสิทธิผลของการสอนในรายวิชาโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน4 โดยมีองค์ประกอบของ TPACK  ทีนำมาบูรณาการ 3 ส่วน คือ

                                                             ภาพที่ 4 รูปแบบการบูรณาการ TPACK

          1. ความรู้ด้านเนื้อหา (Content Knowledge) CK คือ สาระ ข้อมูล แนวคิด หลักการ เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาการในตัวของผู้สอนที่จะถ่ายทอดไปยังผู้เรียน
          2. ความรู้ด้านศิลปะการเรียนการสอน (Pedagogical Knowledge) คือ ความรู้ที่ใช้ประยุกต์แนวทางการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน  การจัดชั้นเรียนและการประเมินผลซึ่งเป็นความรู้ที่ลุ่มลึกเกี่ยวกับกระบวนการและการปฏิบัติหรือวิธีการสอน
          3. ความรู้ด้านเทคโนโลยี (Technological Knowledge) คือ ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้สื่ออุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา ประกอบการเรียนการสอนที่สอดคล้องและเหมาะสมกับเนื้อหาวิชาการและผู้เรียน

          หากพิจารณาจากรูปแบบ TPACK คือการบูรณาการความรู้ ความสามารถ และทักษะ ทั้งสามส่วนเข้าด้วยกันอย่างลงตัวโดยประการแรกที่ผู้สอนต้องมี คือ CK ความรู้ในเนื้อหาสาระ แนวคิด หลักการ รวมทั้งเจตคติที่ดีของข้อมูลต่างๆ ที่จะเรียบเรียงพร้อมที่จะถ่ายทอดไปยังผู้เรียน  ประการที่สองคือ PK ความรู้ ความสามารถและทักษะของการถ่ายทอดความรู้ด้านเนื้อหา รวมถึงการวัดผลประเมินผลในการจัดการเรียนการสอน ที่สามารถให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆ ตามความเหมาะสมกับวัยวุฒิ คุณวุฒิของผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพที่จะก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดของผู้เรียน และสิ่งต่างๆเหล่านั้นอาจเรียกได้ว่าวิธีการสอน เทคนิคการสอนต่างๆที่ผู้สอนจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียนตามสภาพแวดล้อมการเรียนรู้  และประการที่สาม คือ TK การที่ผู้สอนมีความรู้ในเนื้อหาวิชาการ (CK) อย่างลุ่มลึกและท่องแท้ที่เกิดจากสั่งสมประสบการณ์ด้านการถ่ายทอดความรู้ หรือเทคนิค วิธีการสอนต่างๆ (PK) โดยมีความรู้ และสนใจที่จะนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ด้านการศึกษามาประยุกต์ใช้หรือนำมาเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกต่อการจัดการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมกับเนื้อหา  ระดับการศึกษาของผู้เรียน และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (TK)
          จากความสำคัญของสมรรถนะวิชาชีพครูที่ต้องการให้ครูสามารถออกแบบการเรียนรู้อย่างสอดคล้องและเป็นระบบ จัดการเรียนรู้โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยี และการวัดประเมินผลการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลสูงสุด และตัวบ่งชี้ที่สำคัญอีกตัวก็คือ ตัวบ่งชี้ที่ 4 การใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ ตามแนวทางของทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs ในศตวรรษที่ 21 และแนวทางกระบวนการให้ความรู้แก่ครูหรือบูรณาการไอซีที ที่มีประสิทธิผล โดยที่ครูจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี การเรียนการสอน ความรู้ด้านเนื้อหาที่ปฏิสัมพันธ์กันเพื่อประสิทธิผลของเนื้อหาที่ต้องการถ่ายทอดให้ผู้เรียนโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน จึงสรุปจากกรณีศึกษามาเพื่อเป็นแนวทางเพื่อต่อยอดที่จะนำไปสู่การพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูต่อไป


กรณีศึกษา : การพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรทางการศึกษาด้านการเรียนรู้และนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
ด้วย TPACK Model (การอบรมการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับครูคณิตศาสตร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2557 ณ โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว จังหวัดกำแพงเพชร)
          1. การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ คือ วิเคราะห์สภาพ ปัญหา ความต้องการ และความจำเป็นต่างๆ ของการพัฒนาการของผู้เรียน กระบวนการเรียนรู้ ตลอดจนธรรมชาติของความรู้ เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการกำหนดจุดประสงค์
                   1. สถานศึกษามีสภาพแวดล้อมการศึกษาที่เอื้อต่อการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีประกอบการเรียนการสอน ได้แก่ มีบริการเครือข่ายข่ายไร้สาย (WiFi) และห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์สามารถใช้เครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผู้เรียนมีโทรศัพท์ประเภทสมาร์ทโฟนที่สามารถเข้าถึงบทเรียนอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา                                                    
                   2. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาต้องการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีสมรรถนะที่ 1 การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ตัวบ่งชี้ที่ 4 การใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ และทักษะการเรียนและนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
                   
3. สร้างเครือข่ายการศึกษาของครูคณิตศาสตร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ที่จะร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน และพัฒนาผลงานเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ
          2. การกำหนดจุดประสงค์ของการพัฒนา คือ การพิจารณาถึงสิ่งที่ต้องการพัฒนา และแก้ไขโดยอาศัยข้อมูลที่ได้จากวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ  โดยเรียงลำดับความสำคัญและสิ่งที่เกิดผลสัมฤทธิ์ของการพัฒนาหรือลำดับขั้นของการเรียนรู้
                   1. ครูคณิตศาสตร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สามารถพัฒนาเว็บไซต์เพื่อการเรียนการสอนของผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ด้วยกระบวนการ ADDIE Model ได้
                  
2. ครูคณิตศาสตร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มีทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs ได้แก่ การคิดวิเคราะห์, การรวมมือ, การสื่อสาร, การคิดสร้างสรรค์ ตรงตามสมรรถนะที่ 1 การบริหารหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ตัวบ่งชี้ที่ 4 การใช้และพัฒนาสื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนรู้ 
         
          3. มีเครือข่ายการศึกษาของครูคณิตศาสตร์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ที่ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของผู้เรียน และเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Media)
          3. จัดลำดับเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้  คือ การเลือกเนื้อหาให้ตรงกับความต้องการพัฒนา หรือเพื่อแก้ปัญหา โดยเลียงลำดับของกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดความรู้ ความเข้าใจและทักษะตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
                   1. บรรยาย ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ในศตวรรษที่ 21” /ชี้แจงการอบรม
                  
2. กำหนดปัญหาและความต้องการที่จะพัฒนา  (กำหนดปัญหา PBL1)
                  
3. ประเมินตนเองด้าน IT ก่อนอบรมออนไลน์
                  
4. สมัครเครือข่ายการเรียนรู้ Facebook/ครูรุ่นใหม่หัวใจไอที, เว็บไซต์ครูสอนดี
                  
5. ทำแบบทดสอบก่อนอบรม ออนไลน์
                   6. กระบวนการแบ่งกลุ่มปฏิบัติตามความรู้และถนัด กลุ่มละ 5 คน  1A 2D 3D 4I 5E
                   7. ศึกษาเนื้อหาอบรม (Workshop เว็บไซต์พัฒนาการเรียนการสอน)
                             ขั้นที่  1 การวิเคราะห์ 
Analysis : สื่อนวัตกรรม/สภาพแวดล้อม/เนื้อหา/ผู้เรียน/                               จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม/วิธีการสอน/การบริหารจัดการ
                                     
(ทำความเข้าใจปัญหา PBL2)
                             ขั้นที่ 2 การออกแบบ Design :
                                      1. การออกแบบ
Courseware ได้แก่ /วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม/เนื้อหา/แบบทดสอบก่อนบทเรียน (Pre-test)/สื่อ/กิจกรรม/วิธีการนำเสนอ และแบบทดสอบหลังบทเรียน (Post-test)
                                      2. การออกแบบผังงาน (
Flowchart) และการออกแบบบทดำเนินเรื่อง
(Storyboard)
                                      3. การออกแบบหน้าจอภาพ (
Screen Design)  ได้แก่ การกำหนดความละเอียดภาพ (Resolution)/การจัดพื้นที่แต่ละหน้าจอภาพในการนำเสนอ/การเลือกรูปแบบและขนาด ของตัวอักษรทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษการกำหนดสี ได้แก่ สีของตัวอักษร (Font Color) สีของฉากหลัง (Background),สีของส่วนอื่นๆ /การกำหนดส่วนอื่นๆ ที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้บทเรียน
                             ขั้นที่  3 การพัฒนา Development :
                                      1. การเตรียมข้อความ, การเตรียมภาพ, การเตรียมเสียง  
                                      2. เรียนรู้การพัฒนาเว็บไซต์สำเร็จรูป
joomla
                                     
3. แลกเปลี่ยนผลงานและติชม
                                     
4. คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญตรวจประเมิน (คอมเม้นผลงาน)
                                     
5. บรรยายการนำไปทดลองใช้  1:1 ตรวจสอบความถูกต้อง  1:10 ดูความเหมาะสมของเวลาและเนื้อหา การมีปฏิสัมพันธ์  1:30 เพื่อหาคุณภาพภายใต้สถานการณ์จำลอง และสภาพแวดล้อมการเรียนจริง ด้วยเกณฑ์ 80/80  (ดำเนินการศึกษาค้นคว้า PBL3)
                             ขั้นที่  4 การนำไปใช้  Implementation  :
                                      1. การนำสื่อนวัตกรรมไปประกอบการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยจะต้องให้การส่งเสริมความเข้าใจแก่ผู้เรียนในปัจจัยต่างๆ,สนับสนุนการเรียนรู้ของผู้เรียน ตามวัตถุประสงค์ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เพื่อตรวจสอบความเหมาะสมของบทเรียนในขั้นต้น หลังจากนั้นจึงทำการปรับปรุงแก้ไขก่อนที่จะนำไปใช้กับกลุ่มเป้าหมายจริง 
                                      2. หาประสิทธิภาพของบทเรียนและนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความเหมาะสมและประสิทธิภาพ
E2/E2 (สังเคราะห์ความรู้ PBL4)
                             ขั้นที่  5 การประเมินผล Evaluation :  (สรุปและประเมินค่าหาคำตอบ PBL5)
                                      1. การประเมินหลังการสอน (
Summative evaluation) เมื่อผู้เรียนได้เรียนด้วยสื่อที่สามารถแก้ปัญหาการเรียนที่เกิดขึ้น แนวทางการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน t-test
                                      2. การศึกษาความพึงพอใจต่อสื่อนวัตกรรม และความคิดเห็นอื่นๆ
                   8. ทำแบบทดสอบหลังอบรม ออนไลน์
                   9. ประเมินสมรรถนะการผลิตสื่อ โดยผู้เชี่ยวชาญ
                   10. สอบถามความพึงใจต่อการฝึกอบรม
                   11. ประเมินตนเองด้าน IT หลังอบรมออนไลน์
                   12. ตอบแบบสอบถามความพึงพอใจ  AAR (นำเสนอและประเมินผลงาน
PBL6) 
          4. จัดลำดับประสบการณ์การเรียนรู้  คือ อาศัยความรู้เกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้และวิธีสอนแบบต่างๆ เป็นแนวทางที่ทำให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมได้เกิดการพัฒนาการเรียนรู้และทักษะตามวัตถุประสงค์
                  
1. สมรรถนะครูในศตวรรษที่ 21 ด้านทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม
                             
1.1 วิเคราะห์ : คิดวิเคราะห์ความต้องการเพื่อออกแบบและพัฒนาสื่อนวัตกรรม
                             1.2 การสื่อสาร : สมาชิกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในกลุ่ม และต่างกลุ่มด้วย Social Media และการสื่อสารเนื้อหาบรรยายสู่การปฏิบัติ
                             1.3 การร่วมมือ : เกิดการความร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม ที่มีความสามารถ                    แตกต่างกันร่วมกันผลิตพัฒนาสื่อนวัตกรรม
                            
1.4 ความคิดสร้างสรรค์ : จากการประเมินคุณภาพของสื่อนวัตกรรมที่เกิดการออกแบบและพัฒนาทุกขั้นตอน
                   2. การบูรณาการเรียนรู้ TPACK
                             ความรู้ด้านเนื้อหา (CK) : การผลิตสื่อที่ผู้อบรมมีความรู้เนื้อหาโดยนำมาสรุปเนื้อหากระชับเข้าใจง่ายลงในสื่อนวัตกรรมอย่างมีรูปแบบ (TCK)
                             ความรู้ด้านศิลปะการสอน
(PK) : กระบวนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) (PCK)
                             ความรู้ด้านเทคโนโลยีการศึกษา (TK) : ความรู้เกี่ยวการใช้เทคโนโลยีประกอบการอบรม แบบทดสอบออนไลน์, แบบประเมินออนไลน์, เครือข่ายสังคม, และการพัฒนาสื่อนวัตกรรม (TPK)
5. การประเมินผล คือ เป็นสิ่งที่จะทำให้ทราบว่าหลักสูตรประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยปกติจะพิจารณาจากผลของการใช้หลักสูตร นั่นคือ พิจารณาว่าผู้เรียนได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื้อหาและกระบวนการเรียนรู้มีความเหมาะสมเพียงใด โดยการดูผลการประเมินต่อไปนี้
          1. ประเมินความรู้ความเข้าใจก่อนและหลังอบรม
          2. ประเมินคุณภาพสื่อนวัตกรรมมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด
                   3. ประเมินผลความพึงพอใจต่อหลักสูตรการฝึกอบรม
4. ประเมินทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4Cs

                    ภาพที่ 5 กิจกรรมการฝึกอบรมการพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์สำหรับครูคณิตศาสตร์ฯ

         จากแนวคิดของรูปแบบ TPACK คือกระบวนการให้ความรู้แก่ครูหรือบูรณาการไอซีที ให้เกิดทักษะเพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมาะสมกับเนื้อหา ผู้เรียน และผู้สอน ที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาสาระการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ด้วยเทคนิค และวิธีการสอนแบบปัญหาเป็นฐานเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความต้องการที่จะใฝ่หาความรู้เพื่อแก้ปัญหา โดยเน้นผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจในสิ่งที่ต้องการแสวงหาความรู้ และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีมภายในกลุ่มผู้เรียน โดยผู้สอนมีส่วนร่วมน้อยที่สุด ซึ่งการเรียนรู้จากปัญหาอาจเป็นสถานการณ์จริง5  ที่สามารถทำให้ผู้เรียนสามรถเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเนื้อหาด้านวิชาการ การที่ผู้เรียนจะสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณและสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยการบูรณาการของพื้นฐานความรู้ ภายใต้บริบทของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน  ผู้เรียนต้องมีทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ประสบความสำเร็จในดำรงชีวิตชีวิตสังคมโลกปัจจุบันได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ การแก้ปัญหา การคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารและการร่วมมือกัน ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะนำรูปแบบมาพัฒนานักศึกษาวิชาชีพครูให้มีสมรรถนะวิชาชีพเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นครูที่มีความรู้ความสามรถที่มีความพร้อมพัฒนาประเทศต่อไป


อ้างอิง
:
1| กระทรวงศึกษา. (2554). สำนักงานเลขานุการกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ. บทความออนไลน์ สืบค้นได้ที่http://www.moe.go.th/edtechfund  /fund/index.php ?option=com content&view=article&id=16:-2542-9-&catid=6:2011-02-17-04-59-55&Itemid=14. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557

2| สุรศักดิ์ ปาเฮ. (2556). การพัฒนาสมรรถะครูในศตวรรษที่ 21. สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาแพร่ เขต 1-2. บทความออนไลน์ สืบค้นได้ที่ http://www.addkutec3.com /wp-content/uploads/2013/05/การพัฒนาสมรรถนะครูในศตวรรษที่-211.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่  20พฤษภาคม 2557
3| เครือข่าย P21. (2556). ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. 
เครือข่าย P21. บทความออนไลน์ สืบค้นได้ที่ https://www.google.co.th/ทักษะแห่งอนาคตใหม่ การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21.pdf. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557.4| ประหยัด จีระวรพงศ์. (2553). บทความวิชาการ : การบูรณาการไอซีทีสำหรับครู.วารสารศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร.  ปีที่ 12 ฉบับที่ 2. : พิษณุโลก.
5| มัณฑรา  ธรรมบุศย์.(2557). เอกสารทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ความท้าทายใน
อนาคต.คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต. : ภูเก็ต



…………………………………………………………………………………………………………………………………………….……………………………………………………………………………………………………………
อาจารย์ภาควิชา เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
** นิสิตปริญญาเอก สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น